Saturday, July 17, 2010

ผู้คิดค้นจานยูเรเนียน 2 ชั้น


 อาจารย์จรัญ  พิกุล


อาจารย์จรัญ  พิกุล  เกิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม  2466 เวลา 20.10 น.  ที่จังหวัดพะเยา (ขณะนั้นเป็นอำเภอในจังหวัดเชียงราย) ท่านเคยให้สัมภาษณ์อย่างอารมณ์ดีว่า "ผมคงเป็นมนุษย์ประหลาดนะ เพราะเป็นคนที่สนใจโหราศาสตร์ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่" (คุณแม่ท่านเคยเล่าให้ท่านฟังว่าขณะตั้งครรภ์มักชอบดูท้องฟ้า) สำเร็จการศึกษามัธยม 6 จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ ในรุ่นที่มีสมญาว่ารุ่น "โตโจ" เพราะทางโรงเรียนยุติการสอนและให้นักเรียนรุ่นนี้สำเร็จการศึกษายกชั้น  เนื่องจากประเทศไทยถูกญี่ปุ่นบุกในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 (ขณะนั้นประเทศไทยเป็นกลางในสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ในที่สุดก็ถูกชักจูงเข้าร่วมสงครามเต็มตัว)

          ยุคสงครามเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของท่านต้องสับสนไปด้วย  ดังเช่นไม่สามารถศึกษาวิชาแพทย์ให้สำเร็จได้ตามความตั้งใจของคุณพ่อ แต่ก็เป็นช่วงที่เริ่มสนใจโหราศาสตร์และพยากรณ์ศาสตร์แขนงต่าง ๆ นับตั้งแต่ เลข ๗ ตัว ทักษาพยากรณ์ ดวงอีแปะ (ดวงไทยชนิดไม่ใช้สมผุส) การคำนวณปฏิทินสุริยยาตร์ (ภายหลังได้เลิกไปเพราะเห็นว่าปฏิทินสากลตรงกับท้องฟ้ามากกว่า) แม้จะเคยมีนักโหราศาสตร์มีชื่อเสียงท่านหนึ่งชี้หน้าว่า "คุณเรียนโหรไม่ได้หรอก" ก็ไม่อาจหยุดยั้งอาจารย์จรัญได้ โดยเฉพาะความอยากรู้ว่าฝรั่งเขาเรียนโหราศาสตร์กันอย่างไร ในที่สุดได้รบเร้าให้คุณแม่ขายที่ดินถนนระนอง 2 เพื่อไปศึกษาโหราศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษ

          ที่จริงอาจารย์จรัญ  พิกุล  ก็เหมือนกับอีกหลายท่านที่ปรารถนาจะทำงานมีเงินเดือนประจำแล้วค้นคว้าโหราศาสตร์เป็นงานอดิเรก  แต่จะเป็นเพราะดวงหรืออะไรก็ตาม ทำให้ท่านต้องทำงานด้านโหราศาสตร์เป็นหลักมาตลอด ช่วงปี 2502-2503 เมื่อมีชื่อเสียงจากการไปเรียนโหราศาสตร์ที่เมืองนอก ท่านได้เปิด "สถาบันพยากรณ์" และออกนิตยสาร "ดวงชะตา" (เขียนเอง พิมพ์เอง ส่งเอง) และเริ่มศึกษาโหราศาสตร์ยูเรเนี่ยนเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2503 จากหนังสือที่เพื่อน (คุณอุดม ปัทมินทร์ ผู้ล่วงลับไปแล้ว) นำมามอบให้ จนกระทั่งในปี 2515 ได้เชิญอาจารย์ พันโทประยูร  พลอารีย์ (ยศขณะนั้น) ซึ่งสำเร็จวิชาโหราศาสตร์ยูเรเนี่ยนโดยตรงจากประเทศเยอรมนี ให้มาเปิดอบรมโหราศาสตร์ยูเรเนี่ยนที่โรงเรียนอาจารย์เกริก สี่แยกคอกวัว ท่านทั้งสองได้กลายมาเป็นเสาหลักสำคัญของวงการโหราศาสตร์ยูเรเนี่ยนในประเทศไทยตลอดมา

          ผลงานชิ้นเอกของท่าน คือ เมื่อคุณพ่อท่านใกล้จะเสียชีวิตในปี 2521 ท่านได้ค้นพบจานคำนวณสองชั้นสำหรับโหราศาสตร์ยูเรเนี่ยน อันเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้การตรวจค้นจุดอิทธิพลต่าง ๆ 5 พันกว่าจุดได้อย่างสะดวกง่ายดายกว่าจานหมุนแบบเดิมเป็นอันมาก  การพยากรณ์อีกแนวหนึ่งที่ท่านให้ความสำคัญมาก คือการพยากรณ์ด้วยการแบ่งวัยตามวงรอบของดาวเคราะห์ต่าง ๆ เช่น ช่วงเวลาที่ดาวอังคาร พฤหัส เสาร์ ฯลฯ โคจรทำมุมกับตัวเองในพื้นดวงเป็นมุม 90 องศา (1 ใน 4 รอบ) 180 องศา (ครึ่งรอบ) 270 องศา (3 ใน 4 รอบ) และ 0 องศา (กุมภ์หรือครบรอบนั่นเอง) เหตุการณ์ดาวจรเหล่านี้มักเป็นช่วงบอกเหตุการณ์สำคัญในชีวิตรวมถึงคุณโทษของดาวนั้น ๆ จากหลักเกณฑ์อันละเอียดของท่าน ทำให้ท่านเป็นนักโหราศาสตร์ที่ใช้คอมพิวเตอร์มากผู้หนึ่ง ทั้งที่อยู่ในวัยชราแล้ว ในบ้านของท่านจะมีคอมพิวเตอร์ตามห้องต่างๆ รวมกันประมาณ 5 เครื่อง แต่ละเครื่องจะมีโปรแกรมโหราศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศอยู่หลายโปรแกรม

          ความเป็นนักค้นคว้าของท่านยังทำให้ท่านเคยสนใจศึกษาความลึกลับของปิรามิดอีกด้วยแต่จะไม่กล่าวโดยละเอียดในที่นี้ เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์โดยตรง และระยะหลังท่านไม่มีเวลาให้กับเรื่องนี้มากนัก

          อาจารย์จรัญ  พิกุล  นับเป็นนักโหราศาสตร์อาวุโสที่ผ่านประสบการณ์มาหลายรูปแบบ  ทั้งโหราศาสตร์ไทย  สากล  และยูเรเนี่ยน  เคยสอนและพยากรณ์มาหลายแห่ง มีผลงานเขียนทั้งที่เป็นหนังสือและบทความวารสาร  นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งหากคนรุ่นหลังไปพบผลงานของท่านที่เก่ามากๆ แล้ว ขอให้ใช้ดุลยพินิจสักนิด เพราะอาจเป็นเรื่องที่ปัจจุบันไม่ได้ให้ความสนใจแล้ว เช่น เรื่องดวงกับลายมือ หรือ ดาว Black Moon ฯลฯ และจากการที่ท่านเป็นปูชนียบุคคลของนักโหราศาสตร์ทุกแนว จึงได้รับเชิญไปเป็นเกียรติแก่งานพิธีสำคัญในวงการโหราศาสตร์อยู่เสมอ  ทั้งที่ท่านอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรมากมาย  ผลงานประจำปีที่เราอาจพบเห็นอยู่เสมอได้แก่  การร่วมพยากรณ์ในหนังสือ  ศาสตร์แห่งโหรประจำปี  ของสำนักพิมพ์มติชน  และคำพยากรณ์ในโชคชัยไดอารีปัจจุบันท่านไม่ได้รับสอนหรือรับพยากรณ์ประจำไม่ว่าที่บ้านหรือที่ไหน  แต่ผู้ที่สนใจจริง  สามารถติดต่อท่านทางโทรศัพท์ได้ที่หมายเลข  513-2740

(โรจน์  จินตมาศ  เรียบเรียงจากหนังสือ "๗๒ ปีในวังวนแห่งโหราศาสตร์ ข้าพเจ้าได้อะไรบ้าง" พิมพ์เนื่องในวันเกิดอาจารย์จรัญ  พิกุล  ครบรอบ ๗๒ ปี ๓ ธันวาคม ๒๕๓๘

No comments:

Post a Comment